องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง






ประวัติความเป็นมา

 

ประวัติ “ท่าช้าง” ที่มาของชื่อตำบล “ท่าช้าง”  มาจากชื่อบริเวณที่ช้างในเขตอีสานตอนใต้แถบนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ฯลฯ ข้ามไปมาผ่านแม่น้ำมูลของตำบลนี้ในอดีต ทั้งฝูงช้างป่าธรรมชาติในยุคประวัติศาสตร์ และยุคก่อนประวัติศาสตร์ บางช่วงสมัยอาจมีภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมหลากรุนแรง ฝูงช้างป่าบางตัวรวมทั้งสัตว์อื่น ๆ เช่น แรด ยีราฟ ม้า เป็นต้น จมน้ำตายและมีซากกระดูก ฟัน งา จำนวนมากฝังอยู่ใต้ตะกอนน้ำพาริมฝั่งแม่น้ำมูลที่หนานับ 100 เมตร ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 10,000 ไร่ โดยอาจมีซากช้างหลายร้อยตัวหรือนับพันตัวถูกฝังอยู่ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 16 ล้านปีก่อนจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 
         ในทางภูมิประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ช่วง ก่อน 1 เมษายน 2473 หรือก่อนเปิดการเดินรถไฟสายนครราชสีมา – อุบลราชธานี ท่าช้างจะเป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญที่สุดของมณฑลนครราชสีมา ดังคำกล่าวที่ว่า “สินค้าของมณฑลอีสาน (อุบล) จะมาทางเรือ มณฑลอุดรจะมาทางเกวียน” ทำให้กิจการเรือกลไฟที่ท่าช้างมีความรุ่งเรืองมากที่สุด กิจการหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครราชสีมาในยุคแรก ๆ เพราะการเดินทางติดต่อค้าขายระหว่าง 2 เมือง ดังกล่าวกับเมืองอื่น ๆ ตามเส้นทางแม่น้ำมูล ได้แก่ พิมาย คงเค็ง พุทไธสง ชุมพวง สตึก ท่าตูม รัตนบุรี กันทรารมย์ ราศีไศล และวารินชำราบ จะใช้เรือกลไฟลากจูง “เรือฉลอม” 4 – 6 ลำที่มีหลังคากาบธง ทำด้วยไม้ไผ่ถอดเก็บได้ บรรทุกสินค้า เช่น น้ำมันก๊าด เสื้อผ้า ข้าว สังกะสี เป็นต้น สินค้าดังกล่าวบรรทุกด้วยเกวียน หรือ “โคต่าง” จากตัวเมืองนครราชสีมา มาลงเรือที่ท่าช้าง จากนครราชสีมาไปถึงอุบลเรียกว่า “ขาล่อง” ใช้เวลาเดินทางราว 10 – 15 วัน ขากลับเรียกว่า “ขาขึ้น” ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ เพราะต้องทวนกระแสน้ำ สินค้าที่ขนส่งจะเป็นจำพวกของป่า เช่น หนังสัตว์ เขาสัตว์ นอแรก ไม้พยุง ไม้หอม หมู ข้าวเปลือก เป็นต้น ปีหนึ่ง ๆ จะแล่นเรือได้ประมาณ 3 – 4 เดือน เพราะในหน้าแล้งน้ำจะแห้งหรือลดจนเรือแล่นไม่ได้ ต้องจอดรอฤดูฝนใหม่
         เมื่อเปิดการเดินทางและขนส่งทางรถไฟช่วงแรก จากสถานีเมืองนครราชสีมาถึงสถานีท่าช้าง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2465 ได้มีตู้สินค้า ด.ญ. รถไฟจากสถานีรถไฟท่าช้างลากส่งถึงท่าเรือที่ท่าช้าง เพื่อลงเรือฉลอม จนกระทั่งหลัง พ.ศ. 2473 ที่มีการขนส่งทางรถไฟถึงอุบลราชธานีได้ กิจการขนส่งทางน้ำโดยเรือกลไฟของท่าช้างค่อย ๆ เลิกกิจการไป เรือกลไฟบางลำจึงเหลือเพียงซากฝังจมอยู่ในทรายท้องแม่น้ำมูลที่ท่าช้าง ตราบกระทั่งปัจจุบัน 

ความหมายของตราสัญลักษณ์ อบต.ท่าช้าง

        
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้างในอดีตบริเวณใจกลางหมู่บ้าน คือ บ้านใหม่ หมู่ 12 ตำบลท่าช้างมีต้นไทรที่สวยงามขึ้นอยู่ริมน้ำมูล ซึ่งไหลผ่านพอดี ทำให้พื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด และได้มีช้างจำนวนมากลงมาเล่นน้ำและหาอาหาร ต่อมาได้เสียชีวิตตามอายุไขของช้าง ทับถมกันอยู่ใต้ลำน้ำมูล จึงได้มีผู้มาขุดเจาะทำบ่อทรายและได้พบกระดูกช้างดึกดำบรรพ์โบราณ มีอายุนานกว่า 25 ล้านปี และนำมาเก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา

“…ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”
                                                  พระบรมราโชวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว